สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

กล่องเสียงอักเสบ (Laryngitis)

กล่องเสียง(larynx) หมายถึง ส่วนที่อยู่ถัดลงไปจากคอหอย(pharynx) อยู่ตรงส่วนบนของท่อลม(trachea)
ภาวะกล่องเสียงอักเสบพบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย ไม่มีอาการรุนแรง มักหายได้เองใน 1 สัปดาห์กล่องเสียงอักเสบ

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไวรัสมักเกิดร่วมกับไข้หวัด เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ มีส่วนน้อยที่เกิดจากการติดเชื้อจากแบคทีเรีย

อาจเกิดจากการระคายเคืองจากการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ การใช้เสียงมาก โรคกรดไหลย้อน

อาการ
รู้สึกเจ็บคอเวลาพูด เสียงแหบแห้งบางรายเป็นมากจนไม่มีเสียง
บางรายอาจมีไข้ เป็นหวัด เจ็บคอ และไอร่วมด้วย
มักมีอาการไม่เกิน 7 วัน ถ้าเกิดจากการระคายเคืองมักมีอาการเสียงแหบเรื้อรัง

สิ่งตรวจพบ
ถ้ามีการติดเชื้อจะพบมีไข้ น้ำมูกไหล และคอแดงร่วมด้วย
ในรายที่เกิดจากการระคายเคืองอาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน

ภาวะแทรกซ้อน
โรคนี้มักหายได้เอง มีส่วนน้อยที่พบว่ามีภาวะแทรกซ้อนจากโรคติดเชื้อ อาจทำให้ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ

การรักษา

1. งดใช้เสียงแม้แต่การกระซิบ ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ ควรดื่มน้ำอุ่นๆ และสูดไอน้ำร้อนบ่อยๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น
2. ให้การรักษาตามอาการ
3. ถ้าสงสัยว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียจากอาการมีเสมหะเหลืองหรือเขียว คอแดงจัด ให้ยาปฏิชีวนะเช่น เพนิซิลลินวี อะม็อกซีซิลลิน หรืออีริโทรไมซิน
4. ถ้ามีอาการหอบ อาจมีสาเหตุจากคอตีบ หรือครู้ป ควรนำส่งแพทย์ด่วน
5. ถ้าเสียงแหบนานเกิน 3 สัปดาห์ ควรส่งตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด ในบางรายอาจต้องตรวจโรคทางหู คอ จมูก ด้วย

ข้อแนะนำ
อาการเสียงแหบโดยมากจะเป็นอยู่เพียงไม่กี่วัน อาการควรจะดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์เมื่อได้รับการดูแลรักษาแล้ว เช่นอาการเสียงแหบที่เกิดจากการเป็นหวัด เจ็บคอ ไอ ผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ที่ใช้เสียงมากอย่างครู นักเทศน์ นักร้อง เป็นต้น แต่ถ้านานกว่า 3 สัปดาห์ อาจมีสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ เช่น

-ปุ่มเนื้อของสายเสียง(vocal cord nodules) เป็นปุ่มเนื้องอกเล็กๆ ซึ่งเติบโตจากเยื่อบุผิว(epithelium)ของสายเสียง สาเหตุมาจากใช้เสียงมาก ปุ่มนี้อาจยุบหายได้เองหากมีการพักเสียงนานหลายสัปดาห์ หากไม่ได้ผลก็ต้องทำการผ่าตัด เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำอีกแพทย์จะฝึกการใช้เสียงให้ให้ถูกต้องในผู้ที่เป็นโรคนี้

-ติ่งเนื้อเมือกของสายเสียง(vocal cord polyps) เป็นเนื้องอกของเซลล์เยื่อเมือก(mucous membranes) ของสายเสียง ที่เกิดจากการระคายเคืองเรื้อรังเช่นจากการสูบบุหรี่ จากภาวะภูมิแพ้ ต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัดติ่งเนื้อออกไป

-หูดกล่องเสียง(laryngeal papillomatosis) เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ human papillomavirus(HPV) ทำให้เกิดเนื้องอกหรือหูดบริเวณสายเสียงและกล่องเสียงทำให้เสียงแหบเรื้อรัง  ถ้าหูดมีก้อนโตอาจอุดกั้นทางเดินหายใจทำให้หายใจลำบาก พบในเด็กต่ำกว่า 3 ปี รักษาด้วยการตัดออก มักหายได้เองเมื่อเข้าวัยหนุ่มสาว

-โรคกรดไหลย้อน มีอาการเจ็บคอเสียงแหบ ไอเรื้อรัง มักเป็นมากหลังจากตื่นนอน

-แผลสายเสียง(contact ulcer of vocal cord) พบได้ในผู้ที่สูบบุหรี่ ไอเรื้อรัง ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน ผู้ที่ใช้เสียงมาก ทำให้เกิดอาการเสียงแหบ เวลาพูดหรือกลืนจะรู้สึกเจ็บ ให้รักษาตามสาเหตุของโรคนั้นๆ

-มะเร็งกล่องเสียง พบมากในผู้ชายสูงอายุที่สูบบุหรี่จัดมาเป็นเวลานาน

-สายเสียงเป็นอัมพาต (vocal cord paralysis) อาจเกิดจากโรคทางสมอง เช่น เนื้องอกสมอง อัมพาต หรือภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ ซึ่งอาจผ่าตัดไปตัดถูกเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของสายเสียงจนทำให้เสียงแหบถาวรได้

-วัณโรคกล่องเสียง(tuberculous laryngitis) อาจมีอาการของวัณโรคร่วมด้วยหรือไม่ก็ไดเช่น ไข้เรื้อรัง ไอเรื้อรัง น้ำหนักลด ซึ่งวัณโรคกล่องเสียงนี้ทำให้มีอาการเสียงแหบเรื้อรัง

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า