สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

กระเพาะอาหารอักเสบ(Gastritis)

เป็นอาการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหาร พบได้ในคนทั่วไป มักพบเป็นกันมากในผู้ที่กินยาแอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ กระเพาะอาหารอักเสบได้แบ่งออกเป็น 3 ชนิดในปัจจุบัน คือ 1. ชนิดเยื่อบุกร่อน(erosive gastritis) 2. ชนิดเรื้อรัง(chronic/nonerosive gastritis) 3. ชนิดจำเพาะ(specific types of gastritis)กระเพาะอาหารอักเสบ

สาเหตุของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
1. กระเพาะอาหารอักเสบชนิดเยื่อบุกร่อน เยื่อบุกระเพาะอาหารจะแดงและกร่อน เป็นแผลตื้นๆ หลายแห่ง อาจมีเลือดออก จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กระเพาะอาหารอักเสบชนิดเลือดออก(hemorrhagic gastritis) มักเกิดจากสาเหตุการใช้ยาพวกแอสไพริน และยาต้านอักเสบ เช่น ยาแก้ปวดข้อ การดื่มแอลกอฮอล์ ภาวะร่างกายเกิดความเครียดเฉียบพลัน เช่น ได้รับบาดเจ็บรุนแรง ไฟไหม้ น้ำร้อนลวกรุนแรง การผ่าตัด ภาวะช็อก ภาวะไตวาย ภาวะตับวาย เป็นต้น อาจพบร่วมกับโรคตับแข็งที่มีภาวะความดันในหลอดเลือดดำตับสูง

2. กระเพาะอาหารอักเสบชนิดเรื้อรัง มักไม่มีอาการแสดง ต้องตรวจชิ้นเนื้อเพื่อวินิจฉัย แบ่งเป็น 2 ชนิดคือ

ก. ชนิดเอ จะเกิดความผิดปกติของกระเพาะอาหารส่วนต้น มีสาเหตุมาจากปฏิกิริยาภูมิต้านทานตนเอง(autoimmune) กระเพาะไม่สามารถดูดซึมวิตามินบี 12ได้จึงทำให้เกิดภาวะโลหิตจางร่วมด้วย และมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร

ข. ชนิดบี จะเกิดความผิดปกติของกระเพาะอาหารส่วนปลายและอาจลุกลามไปทั่วกระเพาะอาหาร สาเหตุเกิดจากการติเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ ชื่อ เฮลิโคแบกเตอร์ไพโลไร หรือ “เอชไพโลไร”(Helicobacter pylori/H.pylori) เดิมเรียกเชื้อนี้ว่า แคมไพโลแบกเตอร์ ไพโลไร (Campylobacter pylori) ติดต่อได้โดยการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระของผู้ติดเชื้อ เชื้อจะเข้าไปฝังตัวอยู่ใต้เยื่อบุผิวกระเพาะอาหาร การอักเสบเรื้อรังของกระเพาะอาหารจากเชื้อชนิดนี้มีความสัมพันธ์กับการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร

3. กระเพาะอาหารอักเสบชนิดจำเพาะ มักพบร่วมกับโรคดังต่อไปนี้ คือ การติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อราในผู้ป่วยเอดส์ การติดเชื้อวัณโรค ซิฟิลิส พยาธิ การถูกสารเคมี เป็นต้น

อาการของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
มีอาการปวดจุกแน่นใต้ลิ้นปี่ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อาจมีอาการท้องเดินร่วมด้วยในบางราย

หากเป็นชนิดเยื่อบุกร่อน มักมีอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ ปวดท้องร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ มีประวัติจากการดื่มแอลกอฮอล์หรือกินยา ภาวะเครียดก่อนมีเลือดออก

อาจไม่มีอาการแสดงจนกว่าจะเกิดภาวะแทรกซ้อนในบางราย เช่น เลือดออก โลหิตจาง มักอาการอักเสบของกระเพาะอาหารด้วยการใช้กล้องส่องตรวจ

ภาวะแทรกซ้อน
ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกร่วมด้วยมีประมาณร้อยละ 70 เลือดมักหยุดได้เองเมื่อหยุดยาและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ต้องให้เลือดจากภาวะเลือดออกจะมีเป็นส่วนน้อย อาจกลายเป็นแผลเพ็ปติก หรือมะเร็งกระเพาะอาหารได้ในรายที่เป็นแบบเรื้อรัง

การรักษา
1. หากในตอนดึกมีอาการปวดท้องหรือแสบท้อง หรือหลังอาหารมีอาการจุกเสียดแน่นท้อง หรือมีประวัติกินยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ หรือยาแอสไพริน ควรให้ยาต้านกรดร่วมกับยาลดการสร้างกรด เช่น รานิทิดีน 2 สัปดาห์ แม้อาการจะดีขึ้นก็ให้กินยาต่อจนครบ 8 สัปดาห์

2. หากมีอาการหน้ามืดเป็นลม อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ หรือช็อก ควรส่งโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง อาจต้องให้เลือดและตรวจหาสาเหตุด้วยกล้องส่องตรวจกระเพาะลำไส้ หรือเอกซเรย์กระเพาะลำไส้ด้วยการกลืนแป้งแบเรียมหากมีการเสียเลือดมาก แล้วรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น ให้การรักษาแบบแผลเพ็ปติกหากพบว่าเป็นแผลเพ็ปติก หากมีสาเหตุมาจากกระเพาะอาหารอักเสบก็ให้ยาลดการสร้างกรด เช่น รานิทิดีนร่วมกับยาปกป้องเยื่อบุกระเพาะอาหาร เช่น ซูคราลเฟต(sucralfate) 1 กรัม วันละ 4 ครั้ง นาน 2-4 สัปดาห์ ให้ยาบำรุงโลหิตหากมีภาวะซีด สีของยานี้อาจทำให้ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงยาที่อาจทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ และงดดื่มแอลกอฮอล์

3. ควรนำผู้ป่วนส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติมโดยใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะลำไส้ ตรวจชิ้นเนื้อกระเพาะอาหารและให้การรักษาตามสาเหตุที่เกิดขึ้นหากรักษาเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น มีอาการเรื้อรัง น้ำหนักตัวลด

แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะกำจัดเชื้อเมื่อพบว่ามีแผลที่กระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้นร่วมด้วย ในกรณีที่กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังจากเชื้อเฮลิโคแบกเตอร์ไพโลไร(H.pylori)

ข้อแนะนำ
1. ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ อาหารรสจัด เครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน น้ำอัดลม แอลกอฮอล์ บุหรี่

2. ในการใช้ยาแอสไพริน และยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่ต้องใช้ยานี้ในขนาดสูงหรือนานๆ หรือใช้ร่วมกับยาสตีรอยด์ ผู้ที่เป็นแผลเพ็ปติกมาก่อนอาจต้องให้ยาป้องกันควบคู่ไปด้วย เช่น รานิทิดีน โอเมพราโซล ยาต้านกรด ไมโซพรอสตอล เป็นต้น

3. ผู้ป่วยที่กินยาแอสไพริน หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ หากถ่ายเป็นสีดำให้ไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะอาการถ่ายดำเป็นอาการเลือดออกในกระเพาะลำไส้ ถ้าปล่อยไว้ผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนเพลีย ซีด เป็นลม ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน แพทย์มักพิจารณาให้เลือดเพื่อบำบัดรักษา

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า