สำหรับผู้ใส่ใจในการรักษาสุขภาพ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต

กรวยไตอักเสบ (Pyelitis)

กรวยไตอักเสบ เป็นการติดเชื้อของกรวยไต ท่อต่างๆ ภายในไต (Renal tubules) และเนื้อเยื่อไต (Interstitial tissue) อาจเป็นการติดเชื้อเพียงที่ไตข้างเดียว หรือทั้ง 2 ข้าง ก็ได้ เป็นได้ทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง

3.1 กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน

หมายถึง มีการติดเชื้อที่ไตอย่างเฉียบพลัน มีพยาธิสภาพเกิดขึ้นที่บริเวณเนื้อไต แต่ไตยังทำงานได้ตามปกติ

3.2 กรวยไตอักเสบเรื้อรัง

เกิดจากการอักเสบแบบเฉียบพลันมาก่อนแล้วรักษาไม่หาย หรืออาจเริ่มเป็นแบบเรื้อรังเลยก็ได้

อุบัติการณ์และระบาดวิทยา

กรวยไตอักเสบ เกิดจากการอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยคือเชื้อ อี.โคไล (Escherichia Coli) สูโดโมแนส (Pseudomonas aeruginase) มักพบในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่เป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต กระเพาะปัสสาวะอักเสบหรือผู้ที่เคยสวนปัสสาวะมาก่อน

พยาธิสรีรวิทยา

เมื่อมีการอักเสบไตจะขยายใหญ่ขึ้น เกิดมีการคั่งของเลือดและบวม มีการติดเชื้ออย่างรุนแรงเป็นหย่อมๆ โดยทั่วไปตามผนังของกรวยไตน้อย (Calyces) กรวยไตจะบวม และมีลักษณะแดงจัด อาจมีเลือดออกด้วย ถ้าการติดเชื้อไม่รุนแรงและถ้าได้รับการรักษาทันท่วงทีจะมีรอยแผลเป็นบ้างเล็กน้อย แต่ถ้าเป็นเรื้อรังทำให้เกิดแผลเป็น (Fibrosis) จนทำให้ท่อต่างๆ ของไตอุดตัน เส้นเลือดฝอยของโกเมอรูไล (Glomeruli) ตีบแคบทำให้ไตขาดโลหิต ขนาดของไตเล็กลง หน้าที่ของไตจะเลวลงจนในที่สุดจะเกิดภาวะไตวายได้ (Renal failure)

ภาวะแทรกซ้อน

เมื่อมีการอักเสบของกรวยไต ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้มีดังนี้ คือ

1. ความดันโลหิตสูง เนื่องจากมีการติดเชื้อเกิดขึ้นจึงทำให้เนื้อเยื่อไตเกิดแผลเป็น รวมทั้งเส้นโลหิตแดงที่เข้าไปเลี้ยงไตด้วย จึงทำให้เส้นโลหิตเล็กและหดแคบลง ทำให้เกิดสภาวะขาดโลหิตไปเลี้ยงเนื้อไตเป็นส่วนๆ มีการสร้างเรนิน (Renin) และแอนจิโอเทนซิน (Angiotensin) มี ผลกระตุ้นให้เกิดความดันโลหิตสูงขึ้น

2. ภาวะยูเรียเมีย (Uremia) จากการติดเชื้อมีการอักเสบเป็นๆ หายๆ เรื้อรังที่ไตทั้ง 2 ข้าง ทำให้ไตเสียหน้าที่ไปเกือบทั้งหมด สารยูเรีย และคริอะตินิน ซึ่งจะต้องถูกขับออกทางไต ก็จะคั่งอยู่ในกระแสเลือดมากกว่าปกติ เกิดภาวะการคั่งค้างของเสียในเลือด (Azotemia) ขึ้น ต่อมาเมื่อยูเรีย และคริอะตินินสูงขึ้นจนถึงระดับที่ทำให้เกิดอาการทางกระเพาะลำไส้ ได้แก่ อาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน บางครั้งอาจจะมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง หรือมีอาการทางประสาท ได้แก่ อาการคล้ายกล้ามเนื้อกระตุก กล้ามเนื้ออ่อนเพลีย ปวดแสบร้อนตามแขนและขา ซึม สุดท้ายอาจหมดสติ ชัก และถึงแก่ความตาย

อาการอื่นๆ ที่พบได้ทั่วไปมี เหนื่อยง่าย หายใจหอบ ซีด ปวดศีรษะ

อาการและอาการแสดง

โดยส่วนใหญ่พบว่า ผู้ที่มีภาวะกรวยไตอักเสบอาจไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นนานเป็นแรมเดือนหรือไม่มีอาการอะไรเลยจนถึงขั้นรุนแรง และถ้ามีการติดเชื้ออย่างรุนแรง มักทำให้ไตเกิดแผลเป็นซึ่งจะทำไตมีขนาดเล็กลง

ปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นกับผู้ที่มีภาวะกรวยไตอักเสบแบบเฉียบพลัน และเรื้อรัง พอจะจำแนกได้ใน ตารางที่ 6.1 ดังนี้

การประเมินภาวะสุขภาพ

1. การซักประวัติ จากประวัติการเจ็บป่วย ผู้ที่มีอาการอักเสบแบบเฉียบพลันจะให้ประวัติว่า มีไข้หนาวสั่น เหมือนมาลาเรีย ปวดหลัง ปวดท้อง ปัสสาวะบ่อย ขุ่น บางครั้งเป็นหนอง และรู้สึกแสบเวลาถ่ายปัสสาวะ บางครั้งถ่ายปัสสาวะลำบาก มีอาการอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ สำหรับผู้ที่มีการอักเสบเรื้อรังมักให้ประวัติว่า ไม่มีอาการอะไรผิดปกติเกิดขึ้นมาก่อน จนกระทั่ง พบว่ามีอาการเหนื่อยง่ายอ่อนเพลีย ปัสสาวะออกน้อยหรือไม่ออกเลยปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งเป็นอาการที่ญาติจะพามาพบแพทย์

2. การตรวจร่างกาย จากการตรวจสัญญาณชีพจะพบว่ามีไข้ ความดันเลือดสูง เมื่อใช้กำปันเคาะตรงบริเวณสีข้างที่ปวด จะเจ็บจนสะดุ้ง ซึ่งเป็นอาการสำคัญของกรวยไตอักเสบ

3. การตรวจทางห้องทดลอง

ตรวจปัสสาวะ

-พบยูเรียและคริอะตินิน สูงกว่าปกติ

-ตรวจวิเคราะห์น้ำปัสสาวะ พบเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดงคาสท์และแบคทีเรีย

-เพาะเชื้อน้ำปัสสาวะ จะให้ผลบวกเมื่อพบเชื้อ และเป็นการทดลองยาว่ามีความไวต่อการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ (sensitivity)

ตรวจเลือด

-ทำการเพาะเชื้อ จะให้ผลบวกเมื่อมีการติดเชื้อในกระแสเลือด

-คริอะตินินเคลียร้านซ์ (Creatinine Clearance) จะช่วยบอกสภาพของไตได้ว่า การอักเสบได้ทำลายไตไปมากน้อยเพียงใด (ค่าปกติชาย 95-104 มิลลิเมตร/นาที หญิง 95-125 มิลลิลิตร/นาที)

-การฉีดสารทึบแสงเข้าหลอดเลือดดำ แล้วถ่ายภาพทางรังสี (IVP. หรือ Retrograde Pyelogram)

อาจพบว่ามีนิ่วอยู่ด้วย ในรายที่มีการทำลายของไตไปมากพอสมควร จะพบว่าไตเล็กกว่าปกติ อาจดูขรุขระไม่เรียบ

การบำบัดรักษา

1. ให้นอนพักผ่อนดื่มนํ้ามากๆ

2. ให้ยาลดไข้และทำลายเชื้อ เช่น แอสไพริน หรือพาราเซทตามอล และให้ยาต้านจุลชีพหรือโคไตรม็อกซาโซล วันละ 2 ครั้งๆ ละ 2 เม็ด อาจฉีดกาน่ามัยซิน วันละ 1 กรัม (แบ่งให้ 1 -2 ครั้ง) ควบด้วยให้ยาประมาณ 2-3 วัน ถ้าอาการดีขึ้นให้ยาจนครบ 7-10 วัน

3. ขจัดสิ่งแปลกปลอม เช่น อาจต้องผ่าตัดเอานิ่วออกจากไต เพราะถ้ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ การติดเชื้ออาจไม่หายหรือหายเพียงชั่วคราวเท่านั้น

4. ขจัดแหล่งของเชื้อ เช่น ถ้าฟันผุรากฟันเป็นหนอง หรือทอนซิลอักเสบเรื้อรัง ต้องจัดการรักษา

5. ขจัดอาการท้องผูก เพื่อเป็นการช่วยลดแบคทีเรียจากลำไส้

การวินิจฉัยการพยาบาลที่ 1

ภาวะติดเชื้อที่กรวยไต

การวางแผนการพยาบาล

วัตถุประสงค์  

เพื่อลดภาวะการติดเชื้อและทำให้การติดเชื้อในร่างกายหมดไป

เกณฑ์การประเมิน

1. อุณหภูมิของร่างกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ

2. ถ่ายปัสสาวะได้สะดวก ไม่มีอาการปวดแสบ

3. ลักษณะของน้ำปัสสาวะไม่ขุ่น และถ่ายปัสสาวะออกมากพอสมควร (ประมาณ 2,000 ซีซี./วัน)

การวินิจฉัยการพยาบาลที่ 2

มีความไม่สุขสบายจากการที่ต้องถ่ายปัสสาวะบ่อย มีอาการปวดหลัง และปวดบริเวณบั้นเอว หรือสีข้าง

การวางแผนการพยาบาล

วัตถุประสงค์  

เพื่อให้มีความสุขสบายมากขึ้น ไม่มีอาการปวดบริเวณหลัง บั้นเอวหรือสีข้าง

เกณฑ์การประเมิน

1. พักผ่อนและนอนหลับได้มากขึ้น

2. อาการปวดบริเวณหลังบั้นเอวหรือสีข้างลดน้อยลง หรือไม่มีอาการปวดเลย

3. หน้าตายิ้มแย้ม พูดคุยซักถามเรื่องราวต่างๆ กับเจ้าหน้าที่ หรือ ผู้ป่วยด้วยกันมากขึ้น

4. ให้ความร่วมมือในการรักษาพยาบาลดี

การวินิจฉัยการพยาบาลที่ 3

อาจขาดสารอาหาร จากการรับประทานอาหารได้น้อย เนื่องจากไม่อยากรับประทานอาหาร

การวางแผนการพยาบาล

วัตถุประสงค์

เพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย

เกณฑ์การประเมิน

1. ร่างกายไม่อ่อนเพลีย น้ำหนักไม่ลด

2. สามารถช่วยเหลือตนเองได้ตามปกติ

3. ลักษณะร่างกายทั่วไปดูแข็งแรง ไม่ซูบเซียว

การวินิจฉัยการพยาบาลที่ 4

มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคที่เป็นอยู่ และไม่มีความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัตตนในเรื่องต่างๆ ให้ถูกต้อง

การวางแผนการพยาบาล

วัตถุประสงค์

เพื่อลดความวิตกกังวลเกี่ยวกับโรคที่เป็น และสามารถปฏิบัติตนได้เหมาะสมถูกต้อง

เกณฑ์การประเมิน

1. ไม่แสดงอาการหงุดหงิดหรืออารมณ์รุนแรงต่างๆ ออกมาให้เห็น

2. หน้าตายิ้มแย้มพอควร ท่าทางเป็นกันเอง

3. ยอมรับสภาพของโรคที่เป็นอยู่ ปฏิบัติตามคำแนะนำที่ให้ และให้ความร่วมมือในการรักษาพยาบาลด้วยความเต็มใจ

4. ซักถามเกี่ยวกับการปฏิบัติตนในเรื่องการรับประทานอาหาร ยา และเรื่องอื่นๆ ด้วยความสนใจและตั้งใจ

5. ตอบคำถามที่ได้แนะให้ปฏิบัติตนในเรื่องต่างๆ ได้ถูกต้อง เป็นส่วนใหญ่

จากการวินิจฉัยพยาบาลที่ 1-4 ปฏิบัติการพยาบาลที่ให้มีดังนี้

ปฏิบัติการพยาบาล

1. จัดสิ่งแวดล้อมให้สะอาดเรียบร้อย ดูแลให้นอนพักผ่อนได้มากพอ ช่วยจัดท่านอนให้เหมาะสมและสุขสบาย

2. ตรวจสอบสัญญาณชีพทุก 4 ชั่วโมง จนกว่าจะอยู่ในภาวะปกติและคงที่ ถ้ามีไข้เกิน 38.5°C เช็ดตัวเพื่อลดอาการไข้

3. ถ้ามีอาการหนาวสั่น ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายอย่างเพียงพอ ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบอาการผิดปกติต่างๆ ร่วมด้วย

4. กระตุ้นให้ดื่มน้ำอย่างน้อย 3,000 ซีซี./วัน ถ้าไม่ขัดต่อพยาธิสภาพของโรค ดูให้มีการถ่ายปัสสาวะตามปกติ ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ

5. ให้ยาลดไข้ แก้ปวด หรือยาปฏิชีวนะตามแผนการรักษาอย่างครบถ้วน สังเกตอาการข้างเคียงของยาภายหลังให้

6. ถ้ามีอาการปวดให้พัก ถ้าปวดอย่างรุนแรงให้ยาบรรเทาอาการ ตามแผนการรักษาอย่างครบถ้วน

7. สังเกตลักษณะของน้ำปัสสาวะ ถ้าพบขุ่น มีหนอง หรือมีคาสท์ปน ต้องเก็บปัสสาวะตรวจเพื่อทำการเพาะเชื้อ และติดตามผลการตรวจทุกครั้ง

8. ดูแลให้ความสะดวกในการที่ต้องถ่ายปัสสาวะบ่อยๆ ชำระทุกครั้ง ภายหลังถ่ายปัสสาวะดูแลอย่าให้สกปรกและอับชื้น

9. ดูแลให้ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ และเหมาะสมกับโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรท และวิตามินสูง ควรจำกัด อาหารโปรตีนเพื่อลดการทำงานของไต ซึ่งต้องศึกษาผลการตรวจเลือดและผลการตรวจปัสสาวะประกอบด้วยให้อาหารครั้งละน้อยๆ บ่อยครั้ง เท่าที่สามารถจะรับประทานได้ ถ้าไม่สามารถรับประทานได้มากพอเนื่องจากมีคลื่นไส้อาเจียน ดูให้ได้รับสารอาหารทางหลอดเลือดดำตามแผนการรักษาอย่างครบถ้วน

10. บันทึกจำนวนนํ้าที่ร่างกายได้รับและขับออก ชั่งนํ้าหนักตัว รวมทั้งติดตามผลการตรวจเลือด เพื่อประเมินภาวะของการได้รับสาร อาหารและนํ้าในร่างกาย ตลอดจนความสมดุลของนํ้า และอีเล็กโทรลัยท์

11. สังเกตและบันทึกเกี่ยวกับอาการ จำนวน และลักษณะของ อาเจียน

12. ดูแลเรื่องความสะอาดของร่างกาย โดยเฉพาะปากและฟัน ทำความสะอาดทุกครั้งหลังอาเจียนและรับประทานอาหาร

13. ให้ความเป็นกันเองกับผู้ป่วย เอาใจใส่ดูแลอย่างสมํ่าเสมอ ให้ การพยาบาลด้วยความเต็มใจ และให้กำลังใจ

14. อธิบายเกี่ยวกับโรคที่เป็น แผนการรักษาพยาบาล การปฏิบัติ ตนที่ถูกต้อง รวมทั้งระยะเวลาที่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และที่บ้าน

การประเมินผล

ขณะให้การพยาบาลหรือภายหลังให้การพยาบาลต่างๆ ดังกล่าว ต้องทำการประเมินผล จากเกณฑ์การประเมินตามที่ระบุไว้ข้างต้น ดังได้กล่าวไว้แล้ว

การพยาบาลต่อเนื่อง

ก่อนจำหน่ายผู้ป่วย จะต้องให้ความรู้เกี่ยวกับโรคที่ผู้ป่วยเป็น การปฏิบัติตนที่ถูกต้อง และเหมาะสมกับสภาพทั่วๆ ไป ของผู้ป่วย รวมทั้งการป้องกันมิให้เกิดเป็นโรคเดิมซ้ำอีก โดยปฏิบัติดังนี้

1. อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงการที่ต้องดื่มนํ้าให้มาก เพื่อป้องกันมิให้มีการติดเชื้อซํ้าอีก ควรดื่มนํ้าให้มากอย่างน้อยวันละประมาณ 3,000 ซีซี.

2. อธิบายวิธีรับประทานยา เวลา และผลของการให้ยาที่มีต่อการรักษา

3. เน้นในผู้ป่วยสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น อาการปวดบั้นเอว การกลั้นปัสสาวะไม่ได้ รวมทั้งสังเกตลักษณะของน้ำปัสสาวะถ้าผิดปกติต้องรีบมาพบแพทย์ก่อนเวลานัด

4. มารับการตรวจตามวันและเวลาที่นัดทุกครั้ง

5. สนับสนุนให้มารับการตรวจปัสสาวะเป็นครั้งคราว ต่อเนื่องกัน เป็นเวลาอย่างน้อย 1-2 ปี เพราะบางครั้งอาจยังมีการติดเชื้อ ซึ่งไม่แสดงอาการออกมาให้เห็น

สำหรับการปฏิบัติตนของผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการติดเชื้อซ้ำอีก ให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้ ลดจำนวนเชื้อจุลินทรีย์ในช่องคลอดโดย

1. ไม่อาบน้ำในอ่างนํ้า เพราะจะทำให้เชื้อเข้าสู่ท่อปัสสาวะ

2. ชำระล้างบริเวณฝีเย็บให้สะอาดทุกครั้งหลังการขับถ่าย

3. ดื่มน้ำมากๆ เพื่อเป็นการขับแบคทีเรีย

4. ถ่ายปัสสาวะทุก 2-3 ชั่วโมง ในเวลากลางวัน (ทำให้กระเพาะปัสสาวะว่างอยู่ตลอดเวลา) ไม่ควรกลั้นปัสสาวะ

5. ก่อนและหลังการร่วมเพศ แพทย์อาจให้ยารับประทานก่อนร่วมเพศ และถ่ายปัสสาวะ ทิ้งทันทีภายหลังร่วมเพศ

6. ผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อแบคทีเรียอยู่ตลอดเวลา อาจต้องได้รับการรักษาด้วยยาระยะยาว เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำอีก ดังนั้น ก่อนนอนต้องถ่ายปัสสาวะทิ้ง แล้วจึงรับประทานยา ซึ่งในเวลานอนการไหลของปัสสาวะจะช้าลง ทำให้ยามีความเข้มข้น และสัมผัสกับแบคทีเรียได้มาก

↑ กลับสู่ส่วนบนของหน้า